10/30/2553

จังหวัดสระแก้ว Changwat Sa Kaeo

ประวัติความเป็นมา History
          ชื่อจังหวัดสระแก้ว        มีที่มาจากชื่อสระน้ำโบราณในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว ซึ่งมีอยู่ 2 สระ  ในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณปี พ.ศ. 2324 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปตีประเทศกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอย ได้ขนานนามสระทั้งสองว่า "สระแก้ว สระขวัญ" และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์
         สระแก้วเดิมมีฐานะเป็นตำบลซึ่งสมัยก่อนทางราชการได้ตั้งเป็นด่านสำหรับตรวจคนและสินค้า เข้า-ออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปี พ.ศ.2452 ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่า "กิ่งอำเภอสระแก้ว" ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอกบินทร์บุรี โดยใช้ชื่อสระน้ำเป็นชื่อกิ่งอำเภอมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2501 ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกา  ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า "อำเภอสระแก้ว" ขึ้นอยู่ในการปกครองของ จังหวัดปราจีนบุรีและต่อมาเมื่อ 1 ธันวาคม 2536 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสระแก้วขึ้น ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่มที่ 110 ตอนที่ 125 ลงวันที่ 2 กันยายน 2536 เป็นผลให้จังหวัดสระแก้ว ได้เปิดทำการใน วันที่ 1 ธันวาคม 2536 โดยเป็นจังหวัดที่ 74 ของประเทศไทย
 
ตามรอยประวัติศาสตร์
        จังหวัดสระแก้วมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับ 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคหินใหม่-ยุคโลหะ โดยมีการ ค้นพบวัตถุโบราณที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ ในยุคต่อมาก็มีการค้นพบโบราณ วัตถุอีก เช่น ที่อำเภออรัญประเทศและเขตอำเภอตาพระยา แสดงหลักฐานว่าสระแก้วเคยเป็นชุมชน สำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละทวารวดี  มีอารยธรรมและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง  และมีกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองนับถือศาสนาฮินดู  ลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย  ดังจะเห็นได้จาก โบราณสถานและจารึกรูปอักษรปัลลวะต่าง ๆ ที่ปรากฏที่ปราสาทเขาน้อย เขตอำเภออรัญประเทศ ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าที่สุดในกลุ่มจารึกรุ่นแรกที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 1180
        นอกจากนี้ยังพบหลักฐานความเจริญของอารยธรรมขอมระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในแถบนี้ อย่างมากมาย มีทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผาเครื่องถ้วย และคูเมืองโปราณที่ยังหลงเหลือร่องรอย ปรากฏในปัจจุบัน เช่น จารึกพบที่ปราสาทสล็อกก็อกธมอีก 2 หลัก ซึ่งในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 ปราสาทสด๊อกก๊อกธมได้ถูกสร้างขั้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระศิวะ ดังข้อความในจารึกสล็อกก็อกธมหลักที่ 1 ได้กล่าวถึงว่าในปีพุทธศักราช 1480 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้นำศิลาจารึกมาปักไว้ที่ปราสาท สล็อกก็อกธม เพื่อประกาศห้ามเรียกข้าของเทวสถานแห่งนี้ ไปใช้ในกิจการอื่น แต่ให้ข้าของเทวสถาน ได้บำรุงรักษาและบูชาพระศิวลึงค์หรือรูปเคารพ ซึ่งได้ประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถานสล็อกก็อกธมนี้ตลอดไป ส่วนจารึกอีกหลักหนึ่งได้กล่าวสรรเสริญ พระเจ้าอาทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งได้ทรงบูรณะโบราณสถานแห่งนี้จนสำเร็จ พร้อมจารึกที่เกี่ยวกับอารยธรรม และศาสนา เป็นต้น
     จากจารึกและโบราณสถานที่พบนี้ สามารถบ่งบอกให้ทราบถึงระบบการปกครองของอาณาจักรขอม โบราณบนผืนแผ่นดินสระแก้วแห่งนี้  เปรียบเสมือนมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนที่มีคุณค่าเป็น คุณประโยชน์ต่อการศึกษายิ่ง
ที่ตั้งและอาณาเขต
       สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออกตอนบนของประเทศ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 13 องศา 15 ลิปดา ถึง 14 องศา 15 ลิปดาเหนือ กับประมาณเส้นแวงที่ 101 องศา 45 ลิปดา ถึง 103 องศาตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 7,195.138 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,496.961 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 19.71 ของภาคตะวันออก (เอกสารบรรยายสรุปจังหวัดสระแก้วปี 2540) โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดจันทบุรี
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด: พระพุทธรูปปางสรีระประทับยืนบนดอกบัว ด้านหลังเป็นภาพพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ตอนกลางเป็นภาพโบราณสถานปราสาทเขาน้อยสีชมพู
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกแก้ว (Murraya paniculata)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: มะขามป้อม (Phyllanthus emblica)
คำขวัญประจำจังหวัด: ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างาม น้ำตกสวย มากด้วยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร


จังหวัดสระแก้ว

แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย