ความเป็นมาของจังหวัดเพชรบุรี History
จังหวัดเพชรบุรี
ร่องรอยของผู้คนในอดีตในเขตจังหวัดเพชรบุรี ปรากฏหลักฐานในรูปของโบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งที่อยู่อาศัยหลงเหลืออยู่ทั่วไปตั้งแต่ในช่วงที่เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบหลักฐาน แถบภูเขาทางตะวันตกในเขตอำเภอ ท่ายาง จวบจนสังคมพัฒนาขึ้นภายใต้วัฒนธรรมแบบทวารวดี ก็พบร่องรอยของชุมชนเหล่านี้ในหลายพื้นที่ เช่น กลุ่มผลิตรูปเคารพหนองปรง ในเขตอำเภอเขาย้อย กลุ่มบ้านหนองพระ เนินโพธิ์ใหญ่ เนินดินแดง วัดป่าแป้นในเขต อำเภอบ้านลาด กลุ่มเขากระจิว ในเขตอำเภอท่ายาง กลุ่มทุ่งเศรษฐี ในเขตอำเภอชะอำ แต่ในลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีก็ยังไม่พบ หลักฐานของเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองทวารวดีที่ พบทั่วไปใน ลุ่มแม่น้ำสำคัญอื่น ๆ ในแถบภาคกลางของ ไทยแต่ก็พบหลักฐานโบราณวัตถุแบบทวารวดี คือธรรมจักรหินในบริเวณชุมชนเก่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี
เพชรบุรีในวัฒนธรรมเขมรโบราณ
เมื่อชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณในช่วงเวลานี้น่าจะมีการพัฒนาขึ้นในระดับหนึ่ง คงมีการสร้างเมืองในรูปแบบของวัฒนธรรมเขมร โบราณเป็นรูปสี่เหลี่ยมขึ้นที่ทางฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเพชรบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี) ผลจากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ (โดยผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา) พบว่าบริเวณเมืองเพชรบุรีมีร่องรอยของแนวคูเมืองและกำแพงเมือง ที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่ใกล้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมากกว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวของแนวคูเมืองกำแพงเมืองแต่ละด้านกว่า 1 กิโลเมตร เมืองนี้ใช้แม่น้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตก ลักษณะของผังเมืองที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบสม่ำเสมอเป็นเมือง ที่มีอายุหลังสมัยทวารวดีมักพบมากในช่วงที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณลงมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าร่องรอยของแนวคูเมืองกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่นี้ เป็นร่องรอยของเมืองตั้งแต่ในช่วงที่ได้รับ อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร หลักฐานที่เป็นเครื่องสนับสนุนความเป็นบ้านเป็นเมืองในช่วงเวลานี้คือ โบราณสถานที่วัด กำแพงแลง อันได้แก่ปรางค์ศิลาแลง 5 องค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและรูปเคารพที่ได้จากบริเวณนี้ล้วนมีอิทธิพล ศิลปเขมรโบราณแบบบายน ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 และถ้าหากเชื่อว่าเมืองนี้คือหนึ่งในเมืองที่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ทรงประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถไว้ เมืองนี้ก็คือเมือง ศรีชัยวัชรบุรี
ชื่อเมืองและที่ตั้งของเมือง
ชื่อของเมืองเพชรบุรีปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในศิลาจารึกสุโขทัย 2 หลัก คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 และศิลาจารึกวัดเขากบ ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงเมืองในอาณาเขตของสุโขทัยที่อยู่ทางใต้กล่าวว่า "…เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว…" จากข้อความในจารึกแสดงให้เห็นว่า เพชรบุรีมีฐานะเป็นเมืองที่น่าจะมีความสำคัญใกล้เคียงกับเมืองต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวถึงในจารึก เช่น สุพรรณภูมิ ราชบุรี และนครศรีธรรมราช และในศิลาจารึกวัดเขากบ ที่กล่าวถึงการแสวงหาพระธาตุจนถึงเมืองอินเดียและลังกาตอนหนึ่ง กล่าวถึงเส้นทางขากลับที่ ได้เดินทางมาขึ้นบกที่ตะนาวศรี แล้วตัดข้ามมาเพชรบุรี ย้อนขึ้นไปยังราชบุรีและอโยธยาดังนี้ "…โสด ผสมสิบข้าว ข้ามมาลุตะนาวศรี เพื่อเลือกเอาฝูงคนดี …. สิงหลทีป รอดพระพุทธศรีอารยไมตรี เพชรบุรี ราชบุรีน…ส อโยธยา ศรีรามเทพนคร…" สำหรับที่ตั้งของเมืองเพชรบุรีในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่อาจกล่าวได้เนื่องจาก ไม่มีหลักฐาน แน่ชัด แต่ถ้าหากพิจารณาจากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในด้านศิลปสถาปัตยกรรมก็ไม่พบอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ที่เด่นชัด แต่มีข้อน่าสน ใจประการหนึ่งคือ ที่วัดมหาธาตุเมืองเพชรบุรี แม้ว่าจะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาเมื่อใด และผ่านการบูรณะมาหลายครั้งหลายสมัย แต่ก็พบว่าฐานรากมีอิฐขนาดใหญ่แบบเดียวกับที่ใช้สร้าง โบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดี น่าเสียดายที่ไม่มีหลักฐานชัดแจ้ง รูปทรงองค์ปรางค์ที่ปรากฏอยู่ก็เป็นการบูรณะ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจคงเค้าเดิมไว้คล้ายกับองค์มหาธาตุอื่น ๆ ที่ได้รับการบูรณะในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือทรงเรียวแบบฝักข้าวโพด ประกอบกับหลักฐานแวดล้อมอื่น เช่น ศาสนสถานอื่น ๆ ก็ปรากฏเป็นสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคงได้รับ การบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อมีการบูรณะในปัจจุบัน พบโบราณวัตถุ เช่น เครื่องถ้วยจีนเป็นเครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์สุ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีอายุในราว พุทธศตวรรษที่ 16 - 19 อาจเป็นการนำของมีค่าในยุคก่อนนำมาฝังก็เป็นได้ แต่ก็ไม่น่าจะมีอายุห่างจากโบราณวัตถุมากนัก อาจจะราวปลาย พุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลักฐานอื่นที่เก่าไปกว่า สมัยอยุธยาเป็นเครื่องสนับสนุน คือ พระพุทธรูปหินทรายแดงขนาดใหญ่ ศิลปะแบบอู่ทอง และยังมีเสมา ที่มีลวดลายซึ่ง นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า เป็นศิลปะอู่ทอง หรือศิลปะแบบก่อนอยุธยา จึงกล่าวได้ว่าวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรีนี้ มีมา ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาที่นครศรีธรรมราชแพร่หลายขึ้นมาผ่านเพชรบุรี ดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปยัง สุโขทัย แล้วเป็นศาสนาหลักของสังคมที่เป็นบ่อเกิดของ วัฒนธรรมอีก หลายด้าน โดยเฉพาะในส่วนที่เนื่อง ในศาสนาเป็นต้นว่าการสร้างศาสนสถาน เมื่อไทยรับเอาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา เมื่อต้นสุโขทัย ได้เกิดธรรมเนียมการมีวัดมหาธาตุเป็นวัด สำคัญ ของเมือง แต่มิได้หมายความว่าพระธาตุเจดีย์เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยสุโขทัย เนื่องจากมีธาตุเจดีย์อีกหลายองค์ที่มีอายุเก่ากว่ายุคสุโขทัย เช่น พระบรมธาตุเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ธรรมเนียมการสร้างธาตุเจดีย์เป็นปูชนียสถานน่าจะเข้ามาตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธศาสนา เข้ามาใน ดินแดนที่ เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ในระยะแรก ๆ ส่วนธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากลัทธิลังกาวงศ์คือ การมีวัดมหาธาตุเป็นหลักของเมือง มีข้อสนับสนุนจากโบราณสถานที่ปรากฏในปัจจุบัน ในเมืองสำคัญ ๆ หลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองสุโขทัย ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก สวรรคโลก สุพรรณบุรี ราชบุรี สวรรค์บุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น ล้วนแต่มีวัดมหาธาตุเป็นวัดหลักของเมืองทั้งสิ้น รวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย ความสัมพันธ์ของเมืองเพชรบุรี กับสุโขทัยในช่วงเวลาดังกล่าวแม้ว่าจะไม่เด่นชัด แต่จากข้อความในจารึกสุโขทัยทั้ง 2 หลักที่กล่าวข้างต้น ก็บ่งชัดว่า เพชรบุรีมีฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง ตำแหน่งที่ตั้งของมหาธาตุนี้อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีทางฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่คนละฟากกับ เมืองในสมัยที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทวัดกำแพงแลง หากว่าวัดมหาธาตุได้สถาปนา ขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัย บ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี ก็คงมีความสำคัญอาจเป็นศูนย์กลางของเมืองในช่วง เวลาดังกล่าว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้ชำระขึ้นมีความตอนหนึ่งว่าสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ตอนหนึ่งในพระราชบัญญัติหัวเมืองบัญญัติไว้ว่า "…ออกพระศรีสุริทฤาไชย เมืองเพชญบุรีย ขึ้นประแดงเสนฎขวา…" โดยมีฐานะเป็นเมืองจัตวา และในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองเพชรบุรีจัดอยู่ในหัวเมือง ฝ่ายตะวันตก โดยปรากฏหลักฐานอยู่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า โดยเรียกว่า เมืองวิดพรี นอกจากในเอกสารของไทยแล้ว ในเอกสารของชาวตะวันตกที่เข้ามา ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังได้บันทึกเรื่องราวของเมืองเพชรบุรี ไว้อีกหลายที่ด้วยกัน เช่น Tome Pires ชาวโปรตุเกสที่เดินทางไปยังอินเดียและมะละกา ในปี พ.ศ.2054 และได้ทำบันทึกเกี่ยวกับเมืองที่สำคัญ ที่มีบทบาททางการค้าระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก เอาไว้ โดยกล่าวถึง เมืองเพชรบุรี (Peperim , Pepory) ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญ เมืองหนึ่งใน เขตฝั่งตะวันออก แล้วยังเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองเยี่ยงกษัตริย์ และยังมีสำเภาส่งไปค้าขายยังภูมิภาคต่างๆด้วยส่วนในประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ของนายฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง กล่าวว่า เมืองเพชรบุรี (Pipli) เป็นท่าเรือติดทะเล ค้าข้าว ผ้า และฝ้ายมาก นิโกลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามา กรุงศรีอยุธยาในสมัย สมเด็จ พระนารายณ์ได้กล่าวไว้ใน ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ในบทที่ว่าด้วยเมืองบางกอกและเมืองท่าอื่น ๆ กล่าวถึง เมืองเพชรบุรีไว้ด้วยคือ "เมืองพิบพลี (Piply : เพชรบุรี)… อยู่ไกลจากปากน้ำเพียง 10 หรือ 12 ลี้ เท่านั้น เป็นเมืองเก่ามาก กล่าวกันว่าเคยเป็นเมืองที่งดงาม…" จดหมายเหตุ การเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธ ที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2205 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์) ได้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรี ไว้ว่า "จากเมืองปราณบุรี เรามาถึงเมืองเพชรบุรี (Pipili) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม โดยใช้เวลา เดินทาง 5 วัน เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่และมีกำแพงเมืองก่ออิฐ" จาก The History of Japan together with a description of the Kingdom of Siam 1690 - 92 ของ Engellbert Kaempfer M.D. ที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2233 ได้บรรยายเส้นทางการเดินทางไว้ตอนหนึ่งว่า "…ต่อจากนั้นก็ถึงจาม (Czam) ถัดขึ้นไปคือเพชรบุรี (Putprib)" ในจดหมายเหตุของมองสิเออร์เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ในสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช ตอนที่กล่าวถึงการเดินทางเพื่อไปลงเรือที่เมืองมะริด ในปี พ.ศ.2230 ได้บรรยายเมืองเพชรบุรีไว้ว่า "เมืองเพชรบุรีนี้เป็นเมืองขนาดใหญ่ในประเทศสยามและเดิม ๆ มาพระเจ้าแผ่นดินสยามก็เคยมาประทับอยู่ในเมืองนี้เสมอ ๆ เมืองนี้มีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบ และมีหอรบหลายแห่ง แต่กำแพงนั้นชำรุดหักพังลงมากแล้วยังเหลือดีอยู่แถบเดียว เท่านั้น บ้านเรือนในเมืองนี้ไม่งดงามเลย เพราะเป็นเรือนปลูกด้วยไม้ไผ่ทั้งสิ้นสิ่งที่งามมีแต่วัดวารามเท่านั้น และวัดในเมือง นี้ก็มีเป็นอันมาก…" จากเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในเอกสารฝ่ายไทย เรียก เมืองเพชรบุรี ในสมัย กรุงศรีอยุธยาว่า เมืองเพชญบุรีย ส่วนที่เรียกว่า เมืองวิดพรี ในคำให้การชาวกรุงเก่านั้น เอกสารฉบับนี้ต้นฉบับ เป็นภาษาพม่า กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณขอคัดสำเนามาจากพม่า แล้วมาแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เป็นเรื่องราวพงศาวดารไทยที่พระเจ้าอังวะกษัตริย์พม่า ให้เรียบเรียงจากคำให้การของชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อ ครั้งพม่ายกมาตีกรุงศรี อยุธยา จึงเป็นไปได้ว่าชื่อวิดพรีนั้น เป็นการเรียกตามสำเนียงพม่า ส่วนในเอกสารชาว ตะวันตกที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา ก็เรียกชื่อเมืองเพชรบุรีแตกต่างกันไปหลายแบบคือ Tome Pires ชาวโปรตุเกส (พ.ศ.2054) เรียกว่า Peperim , Pepory ในจดหมายเหตุการเดินทางของพระสังราชแห่งเบริธ (พ.ศ.2205) เรียก Pipili ในประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนิโกลาส์ แชรแวส เรียก Piply ส่วนใน The History of Japan together with a description of the Kingdom of Siam 1690 - 92 ของ Engellbert Kaempfer M.D.(พ.ศ.2233) เรียก Putprib เหตุที่มีการเรียกชื่อเมืองเพชรบุรีแตกต่างกันหลายแบบน่าจะเป็นการถ่ายเสียง จากภาษาไทยตามสำเนียงของแต่ละชาติแต่ละภาษา
เพชรบุรีในสมัยสุโขทัย
อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงแม้จะมีอำนาจครอบคลุมเพชรบุรี แต่เพชรบุรีก็ยังมีอิสระอยู่มาก สามารถส่งทูตไปจีนได้ ต้นวงศ์ของกษัตริย์เพชรบุรีในช่วงสมัยสุโขทัยคือ พระพนมทะเลศิริ ผู้เป็นเชื้อสายของพระเจ้าพรหมแห่งเวียงไชยปราการ ราชวงศ์นี้ได้ครองเมืองเพชรบุรีมาจนถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง จึงได้เสด็จไปสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
เพชรบุรีในสมัยอยุธยาตอนต้น
เพชรบุรีขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาในแบบศักดินาสวามิภักดิ์มีขุนนางควบคุมเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยพระบรมไตรโลกนาถอำนาจใน ส่วนกลางมีมากขึ้น เพชรบุรียังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นอำนาจจากส่วนกลางจึงมามีส่วนในการปกครองเพชรบุรีมากกว่าเดิม
ในสมัยพระมหาธรรมราชา ทางเขมรได้ให้พระยาจีนจันตุยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรี แต่ชาวเพชรบุรีป้องกันเมืองไว้ได้ ต่อมาพระยาละแวกได้ยกทัพมาเองมีกำลังประมาณ 7,000 คน เมืองเพชรบุรีจึงตกเป็นของเขมร จนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเขมรชนะ เพชรบุรีจึงเป็นอิสระ และเนื่องจากทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีเป็นพิเศษ จึงได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีเป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนจะทรงยกทัพใหญ่ไปปราบพม่า และสวรรคตที่เมืองหาง
เจ้าเมืองเพชรบุรีและชาวเมืองเพชรบุรีได้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับข้าศึกหลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเชษฐาธิราชและสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โดยเฉพาะในสมัยพระเทพราชานั้น การปราบปรามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่ง แข็งเมือง พระยาเพชรบุรีได้เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสบียงให้แก่กองทัพฝ่ายราชสำนักอยุธยา อย่างไรก็ดีเมืองเพชรบุรีถูกตีแตกอีกครั้ง เมื่อพม่าโดยมังมหานรธราได้ยกมาตีไทย จนไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 นั่นเอง
เพชรบุรีในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินจนถึงแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยยังคงทำสงครามกับพม่ามาโดยตลอดซึ่ง เจ้าเมืองและชาวเมืองเพชรบุรีก็ยังคงมีส่วนในการทำสงครามดังกล่าว จนเมื่อพม่าตกเป็นของอังกฤษบทบาทของเมืองเพชรบุรีที่มีต่อเมืองหลวงและราชสำนักจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้ง ยังทรงผนวชอยู่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้สร้างพระราชวัง วัดและพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ย ๆ ใกล้กับตัวเมืองและพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “วังบ้านปืน” และด้วยความเชื่อที่ว่าอากาศชายทะเลและ น้ำทะเลอาจบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวัง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ขึ้นที่ชายหาดชะอำเพื่อใช้เป็นที่ประทับรักษาพระองค์
อาณาเขต
จังหวัดเพชรบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 6,225.138 ตารางกิโลเมตรหรือ 3,890,711.20 ไร่ โดยมีส่วนที่กว้างที่สุดวัดได้ 103 กิโลเมตรจากทิศตะวันออก-ตะวันตกและส่วนที่ยาวที่สุดวัดได้ 80 กิโลเมตรจากทิศเหนือ-ใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดและประเทศใกล้เคียงต่อไปนี้
แผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502ด้านเหนือ ติดกับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ด้านตะวันออก ติดชายฝั่งอ่าวไทย (น่านน้ำติดต่อตรงข้ามกับน่านน้ำจังหวัดชลบุรี ด้านทิศใต้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านทิศเหนือ น่านน้ำจังหวัดสมุทรสงคราม น่านน้ำจังหวัดสมุทรสาคร น่านน้ำกรุงเทพมหานคร และน่านน้ำจังหวัดสมุทรปราการ)
ด้านใต้ ติดกับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ด้านตะวันตก ติดกับเขตตะนาวศรีของสหภาพพม่า
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด รูปทุ่งนา ต้นตาลโตนด และพระนครคีรี หรือเขาวัง
ดอกไม้ประจำจังหวัด: จังหวัดเพชรบุรีไม่มีการกำหนดดอกไม้ประจำจังหวัดอย่างเป็นทางการ แต่ได้ใช้ดอกลั่นทมเป็นสัญลักษณ์เสมือนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดโดยตลอด
ต้นไม้ประจำจังหวัด: หว้า (Eugenia cumini)
คำขวัญประจำจังหวัด: เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม
แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย