10/30/2553

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ Changwat Prachuap Khiri Khan

ประวัติศาสตร์ History

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

       จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาไม่ค่อยแน่ชัด เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบ ยามมีศึกสงครามยากแก่การป้องกันจึงต้องปล่อยให้เป็นเมืองร้างหรือยุบเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ในอดีตเป็นเพียงเมืองชั้นจัตวาเล็ก ๆ ที่รวมกันอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองเพชรบุรี พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้โปรดเกล้าฯ ตั้งเมือง เมืองบางนางรม ที่ปากคลองบางนางรม ได้รวมเมืองบางนางรม เมืองกุย และเมืองคลองวาฬ แต่สภาพที่ดินไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกจึงได้มีการย้ายเมืองไปยังเมืองกุยบุรีที่มีความอุดมสมบูรณ์และการตั้งบ้านเรือนหนาแน่นกว่า แต่ยังเรียกเมืองบางนางรมตามเดิม จวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ชื่อคล้องกับชื่อของจังหวัดเกาะกงที่แยกออกจากจังหวัดตราดคือ "เมืองประจันตคีรีเขต"
       รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองประจวบคีรีขันธ์จึงถูกยุบรวมเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองเพชรบุรี และต่อมาได้มีการย้ายเมืองประจวบคีรีขันธ์มาตั้งที่ตำบลเกาะหลัก ในช่วงนี้เมืองประจวบคีรีขันธ์และเมืองปราณบุรีขึ้นตรงกับเมืองเพชรบุรี ส่วนเมืองกำเนิดนพคุณขึ้นตรงกับเมืองชุมพร ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสงวนชื่อเมืองปราณไว้ (เมืองเก่าที่ตั้งอยู่ที่ปากน้ำปราณบุรี) จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองประจวบคีรีขันธ์ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะหลักเป็นเมืองปราณบุรี รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรีเป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อป้องกันการสับสนกับเมืองปราณ ที่ปากน้ำปราณบุรี หลังจากมีการยกเลิกระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองประจวบคีรีขันธ์จึงไม่ได้ขึ้นตรงกับเมืองเพชรบุรีและมณฑลราชบุรีอีก
       จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือเป็นจังหวัดของภาคกลาง แต่พื้นที่อยู่ตอนบนของภาคใต้ หรือจะเรียกว่า เป็นประตูก่อนสู่จังหวัดภาคใต้คือจังหวัดชุมพรก็คงไม่ผิด เพราะการเดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคใต้ จังหวัดใดก็ตามตั้งแต่ชุมพรลงไป จะต้องขับรถผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก่อน สมัยรัชกาลที่ 4 ได้รวมเมืองบางนางรม เมืองกุยบุรี เมืองคลองวาฬ เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีที่ว่าการอยู่ ณ เมืองกุยบุรี จน พ.ศ. 2441 จึงย้ายมาอยู่ที่อ่าวเกาะหลักหรืออ่าวประจวบฯ ซึ่งเป็นที่ตั้ง ตัวเมืองในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีชายฝั่งทะเลยาวตลอดแนว จึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมากมายหลายแห่ง ที่ขึ้นชื่อคือ ชายทะเลหัวหินซึ่งมีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน และเขตพื้นที่ที่แคบที่สุดของประเทศไทย อยู่ในเขตจังหวัดนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่บนส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย 11 กิโลเมตร แต่มีชายทะเลยาวถึง 212 กิโลเมตร ซึ่งเกือบเท่ากับ จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ว่าได้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ “ประจวบคีรีขันธ์” เคยเป็นที่ตั้งของเมืองนารัง สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ได้ร้างไปเมื่อครั้งกรุงแตก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ปากคลองอีรม ชื่อว่าเมืองบางนางรม
ศาลหลักเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหลักเมืองชัยคู่บ้าน คู่เมือง ของชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราช ดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เพื่อให้เป็นสิริมงคลและ หลักชัยคู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่สักการะบูชาของชาวประจวบฯ สืบไป

ภูมิศาสตร์

       มีเนื้อที่ประมาณ 6,367.620 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,979,762.5 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดเพชรบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพพม่า

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัด เป็นรูปศาลามณฑป มีภาพเกาะอยู่เบื้องหลัง ศาลามณฑป หมายถึง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ในถ้ำพระยานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ.2433 และเคยเสด็จไปประทับที่ถ้ำนี้ 2 ครั้ง และต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็เคยเสด็จไปประทับที่นี่อีก
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกเกด (Manilkara hexandra)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: เกด (Manilkara hexandra)
คำขวัญประจำจังหวัด: เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าว สับปะรด สวยสด หาด เขา ถ้ำ งามล้ำน้ำใจ


แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย