10/29/2553

จังหวัดจันทบุรี Changwat Chanthaburi

ประวัติความเป็นมา History       
        จันทบุรีหรือที่นิยมเรียกกันในอีกชื่อว่า “เมืองจันท์” มีประวัติศาสตร์ย้อนไปได้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือมี   การสำรวจพบเครื่องมือในยุคหินขัดอายุประมาณ 2,000 ปี ที่อำเภอมะขาม อำเภอท่าใหม่ และที่ราบเชิงเขาบ้านคลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีการสร้างเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณหน้าเขาสระบาป โดย “ชาวชอง” ซึ่งเป็นชนเผ่าในตระกูลมอญ-เขมร เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในป่าตะวันออกบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด โดยเฉพาะในเขตป่ารอยต่อจันทบุรี-ตราด ซึ่งเป็นแหล่งของป่าและสมุนไพรอันอุดมสมบูรณ์มาก     ทั้งรง (คือยางไม้ที่ได้จากต้นไม้  ใช้ทำยา) ครั่ง (คือชื่อของเพลื้ยชนิดหนึ่ง ให้สีแดงในการย้อมผ้า)      ขี้ผึ้ง  กระวาน ไม้กฤษณา  ไม้จันทน์ขาว หวาย อบเชยป่า ขมิ้นหอม น้ำมันยางเร่ว และอื่นๆ อีกมากมาย ในสมัยก่อนชาวชองดำรงชีพด้วยการเก็บหาของป่า ทว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าได้ลดน้อยลงเนื่องจากการหักร้างถางพง การทำไร่ทำสวน และ ถูกจับจองโดยคนไทยและคนจีน กอปรกับการเก็บของป่ากลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นายพรานจึงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นแรงงานในเมือง หรือบางส่วนยังคงทำนาทำสวนกันอยู่ที่บ้านคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชกูฏ
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2200 ได้มีการย้ายเมืองไปสร้างใหม่ที่บ้านลุ่มซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี และหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครั้งดำรงตำแหน่งพระยาวชิรปราการ ได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้นาน 5 เดือน เพื่อสะสมเสบียงและรี้พล จากนั้นจึงเดินทัพประกอบด้วยชาวไทย-จีน จำนวน 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่าได้สำเร็จ นับเป็นความภาคภูมิใจของคนเมืองจันท์มาถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานและอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่มีกาจัดสร้างไว้เพื่อรำลึกถึงพระองค์
          ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่บ้านเนินวง ซึ่งอยู่ในพื้นที่สูงเพื่อเป็นที่มั่นในการป้องกันการถูกรุกรานจากญวณ จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงย้ายเมืองกลับไปที่เดิม ณ บ้านลุ่ม   เนื่องจากค่ายเนินวงอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ จนปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครองเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี จนไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกเมืองจันทบุรีกลับคืนมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่  เมืองจันทบุรีจึงได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดมาจนทุกวันนี้

ขนาดและที่ตั้ง  
     จังหวัดจันทบุรีตั้งอยู่บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 12-13 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 101-102 องศาตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 245 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 6,338 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,961,250 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.6 ของพื้นที่ภาคตะวันออก และเท่ากับร้อยละ 1.8 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ
ทิศเหนือ ติดจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันออก ติดจังหวัดตราดและราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศใต้ ติดอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดจังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ       
    สภาพพื้นที่โดยทั่วไปทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก เป็นป่าไม้ ภูเขา และที่ราบสูงเป็นส่วนใหญ่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 30-190 เมตร ทิศใต้เป็นชายฝั่งทะเลมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งเป็นอ่าวแหลมและหาดทราย สูงจากระดับน้ำทะเล 30-190 เมตร
พื้นที่จังหวัดจันทบุรี แยกลักษณะภูมิประเทศออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1.ภูเขาสูงและเนินเขา
2.ที่ราบสูงและที่ราบเชิงเขา
3.ที่ราบลุ่มน้ำและที่ราบชายฝั่งทะเล
สัญลักษณ์จังหวัดจันทบุรี
ตราประจำจังหวัด
        รูปกระต่ายอยู่ในดวงจันทร์ เปล่งแสงเป็นประกาย แสงจันทร์ หมายถึงความสวยงาม เยือกเย็น ละมุนละไม เปรียบได้กับความสงบ รื่นรมย์ และร่มเย็นเป็นสุขของภูมิภาคนี้ รูปกระต่ายเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของดวงจันทร์ซึ่งชาวไทยทั่วไปเชื่อว่ามีอยู่เช่นนั้นมาแต่ดึกดำบรรพ์เช่นเดียวกับที่จันทบุรีเป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารมาตั้งแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา
ดอกไม้ประจำจังหวัด ชื่อ "ดอกเหลืองจันทบูร"
พรรณไม้ประจำจังหวัด ชื่อ "พรรณไม้จัน" ชื่อวิทยาศาสตร์ Diosppyros decandra

                                                                 แผนที่จังหวัดจันทบุรี

แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย