11/01/2553

เที่ยวจังหวัดตราด(เมืองตราด) Trat

รู้จักเมืองตราด  

        จังหวัดตราดเป็นจังหวัดสุดท้ายที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นจังหวัดติดชายทะเล มีพื้นที่ประมาณ 2,819 ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งยาว 165 กิโลเมตร มีเกาะทั้งหมด 52 เกาะ และมีเกาะช้าง ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ จังหวัดตราดเต็มไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม ทั้งชาดหาด,ปะการัง,น้ำตกและป่าเขา นอกจากเกาะช้างก็ยังมีเกาะอื่นๆที่สวยงามที่พร้อมให้ทุกท่านได้มาสัมผัส เช่น เกาะกูด เกาะรัง ฯลฯ
       จังหวัดตราดอยู่ห่างจากกรุงเทพฯเพียง 315 กิโลเมตรเท่านั้น นับเป็นจังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกของประเทศไทย แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อ.เมือง , อ.เขาสมิง , อ.แหลมงอบ , อ.คลองใหญ่ , อ.บ่อไร่ , อ.เกาะกูด และอ.เกาะช้าง
                                                                     แผนที่จังหวัดตราด


การเดินทางไปจังหวัดตราด 
สามารถเดินทางไปได้หลายวิธี  รายละเอียดคลิก!

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดตราด

- อ.เมือง
- อ.เขาสมิง
- อ.คลองใหญ่

- อ.บ่อไร่
- อ.แหลมงอบ
- อ.เกาะกูด
- อุทยานแห่งชาติ น้ำตกคลองแก้ว

- อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะช้าง (เกาะช้าง)
- เกาะอื่นๆ


สถานที่พัก(Accommodation) 

10/31/2553

จังหวัดราชบุรี Changwat Ratchaburi

ประวัติจังหวัดราชบุรี History


                                                                     จังหวัดราชบุรี


        ราชบุรี ดินแดนวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลองและสายหมอกแห่งขุนเขาตะนาวศรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางด้านตะวันตกที่มีภูมิประเทศหลากหลาย จากพื้นที่ที่ราบต่ำ ลุ่มแม่น้ำแม่กลองอันอุดม แหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด สู่พื้นที่สูงทิวเทือกเขาตะนาวศรีทอดตัวยาวทางทิศตะวันตกจรดชายแดนไทย-พม่า
จากตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ราชบุรีเป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่งของแคว้นสุวรรณภูมิมาตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียได้เผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนแถบนี้ เมื่อราวปี พ.ศ. 218 โดยแคว้นสุวรรณภูมินี้มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครปฐมหรือที่สมัยนั้นเรียกกันว่า "ทวารวดี” ราชบุรียังเป็นแหล่งพบปะของพ่อค้าวาณิชแต่ครั้งโบราณ ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่ติดต่อกับพม่า ราชบุรีจึงเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่สุดแห่งหนึ่ง
       จังหวัดราชบุรี มีชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง หมายถึง “ เมืองพระราชา ” ราชบุรีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของประเทศไทย จากการศึกษาและขุดค้นของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี พบว่าดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้เป็นถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนหลายยุคหลายสมัย และมีความรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต จากหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุมากทำให้เชื่อได้ว่ามีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่ยุคหินกลางตลอดจนได้ค้นพบเมืองโบราณสมัยทราวดีที่ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระยุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้เคยดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า เมืองราชบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ เป็นสมรภูมิการรบหลายสมัย โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ยกทัพมาตั้งรับศึกพม่าในเขตราชบุรีหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือสงครามเก้าทัพต่อมา พ.ศ. 2360 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพ.ศ. 2437 ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคโดยรวมหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกัน ตั้งขึ้นเป็นมณฑล และได้รวมเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม  เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ รวม 6 เมือง ตั้งขึ้นเป็นมณฑลราชบุรี ตั้งที่บัญชาการมณฑล ณ ที่เมืองราชบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง (ปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเก่า) ต่อมาใน พ.ศ. 2440 ได้ย้ายที่บัญชาการเมืองราชบุรี จากฝั่งซ้าย กลับมาตั้งรวมอยู่แห่งเดียวกับศาลาว่าการมณฑลราชุบรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง จนถึง พ.ศ. 2476 เมื่อได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลทั้งหมด มณฑลราชบุรีจึงถูกยกเลิกและคงฐานะเป็นจังหวัดราชุบรีจนถึงปัจจุบัน

ตราประจำจังหวัด
ความหมายของตราประจำจังหวัด เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 2 อย่างคือ
ภาพฉลองพระบาทอยู่บนพานทอง
ภาพพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งวางอยู่บนพระที่
ทั้งนี้ก็เพราะชื่อจังหวัดราชบุรีแปลว่า เมืองของพระราชา

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกกัลปพฤกษ์ (Cassia bakeriana)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: โมกมัน (Wrightia tomentosa)
คำขวัญประจำจังหวัด: คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี

แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย

จังหวัดเพชรบุรี Changwat Phetchaburi

ความเป็นมาของจังหวัดเพชรบุรี History 

     จังหวัดเพชรบุรี
       ร่องรอยของผู้คนในอดีตในเขตจังหวัดเพชรบุรี ปรากฏหลักฐานในรูปของโบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งที่อยู่อาศัยหลงเหลืออยู่ทั่วไปตั้งแต่ในช่วงที่เป็นชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์พบหลักฐาน แถบภูเขาทางตะวันตกในเขตอำเภอ ท่ายาง จวบจนสังคมพัฒนาขึ้นภายใต้วัฒนธรรมแบบทวารวดี ก็พบร่องรอยของชุมชนเหล่านี้ในหลายพื้นที่ เช่น กลุ่มผลิตรูปเคารพหนองปรง ในเขตอำเภอเขาย้อย กลุ่มบ้านหนองพระ เนินโพธิ์ใหญ่ เนินดินแดง วัดป่าแป้นในเขต อำเภอบ้านลาด กลุ่มเขากระจิว ในเขตอำเภอท่ายาง กลุ่มทุ่งเศรษฐี ในเขตอำเภอชะอำ แต่ในลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีก็ยังไม่พบ หลักฐานของเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแบบเมืองทวารวดีที่ พบทั่วไปใน ลุ่มแม่น้ำสำคัญอื่น ๆ ในแถบภาคกลางของ ไทยแต่ก็พบหลักฐานโบราณวัตถุแบบทวารวดี คือธรรมจักรหินในบริเวณชุมชนเก่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี

เพชรบุรีในวัฒนธรรมเขมรโบราณ
        เมื่อชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณในช่วงเวลานี้น่าจะมีการพัฒนาขึ้นในระดับหนึ่ง คงมีการสร้างเมืองในรูปแบบของวัฒนธรรมเขมร โบราณเป็นรูปสี่เหลี่ยมขึ้นที่ทางฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเพชรบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี) ผลจากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศ (โดยผ่องศรี วนาสิน และทิวา ศุภจรรยา) พบว่าบริเวณเมืองเพชรบุรีมีร่องรอยของแนวคูเมืองและกำแพงเมือง ที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม ที่ใกล้จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมากกว่าสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวของแนวคูเมืองกำแพงเมืองแต่ละด้านกว่า 1 กิโลเมตร เมืองนี้ใช้แม่น้ำเพชรบุรีเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตก ลักษณะของผังเมืองที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบสม่ำเสมอเป็นเมือง ที่มีอายุหลังสมัยทวารวดีมักพบมากในช่วงที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรโบราณลงมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าร่องรอยของแนวคูเมืองกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่นี้ เป็นร่องรอยของเมืองตั้งแต่ในช่วงที่ได้รับ อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร หลักฐานที่เป็นเครื่องสนับสนุนความเป็นบ้านเป็นเมืองในช่วงเวลานี้คือ โบราณสถานที่วัด กำแพงแลง อันได้แก่ปรางค์ศิลาแลง 5 องค์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและรูปเคารพที่ได้จากบริเวณนี้ล้วนมีอิทธิพล ศิลปเขมรโบราณแบบบายน ที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 และถ้าหากเชื่อว่าเมืองนี้คือหนึ่งในเมืองที่ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ทรงประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถไว้ เมืองนี้ก็คือเมือง ศรีชัยวัชรบุรี

ชื่อเมืองและที่ตั้งของเมือง
        ชื่อของเมืองเพชรบุรีปรากฏหลักฐานแน่ชัด ในศิลาจารึกสุโขทัย 2 หลัก คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 และศิลาจารึกวัดเขากบ ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ตอนที่กล่าวถึงเมืองในอาณาเขตของสุโขทัยที่อยู่ทางใต้กล่าวว่า "…เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว…" จากข้อความในจารึกแสดงให้เห็นว่า เพชรบุรีมีฐานะเป็นเมืองที่น่าจะมีความสำคัญใกล้เคียงกับเมืองต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวถึงในจารึก เช่น สุพรรณภูมิ ราชบุรี และนครศรีธรรมราช และในศิลาจารึกวัดเขากบ ที่กล่าวถึงการแสวงหาพระธาตุจนถึงเมืองอินเดียและลังกาตอนหนึ่ง กล่าวถึงเส้นทางขากลับที่ ได้เดินทางมาขึ้นบกที่ตะนาวศรี แล้วตัดข้ามมาเพชรบุรี ย้อนขึ้นไปยังราชบุรีและอโยธยาดังนี้ "…โสด ผสมสิบข้าว ข้ามมาลุตะนาวศรี เพื่อเลือกเอาฝูงคนดี …. สิงหลทีป รอดพระพุทธศรีอารยไมตรี เพชรบุรี ราชบุรีน…ส อโยธยา ศรีรามเทพนคร…" สำหรับที่ตั้งของเมืองเพชรบุรีในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่อาจกล่าวได้เนื่องจาก ไม่มีหลักฐาน แน่ชัด แต่ถ้าหากพิจารณาจากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในด้านศิลปสถาปัตยกรรมก็ไม่พบอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ที่เด่นชัด แต่มีข้อน่าสน ใจประการหนึ่งคือ ที่วัดมหาธาตุเมืองเพชรบุรี แม้ว่าจะไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นมาเมื่อใด และผ่านการบูรณะมาหลายครั้งหลายสมัย แต่ก็พบว่าฐานรากมีอิฐขนาดใหญ่แบบเดียวกับที่ใช้สร้าง โบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดี น่าเสียดายที่ไม่มีหลักฐานชัดแจ้ง รูปทรงองค์ปรางค์ที่ปรากฏอยู่ก็เป็นการบูรณะ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจคงเค้าเดิมไว้คล้ายกับองค์มหาธาตุอื่น ๆ ที่ได้รับการบูรณะในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือทรงเรียวแบบฝักข้าวโพด ประกอบกับหลักฐานแวดล้อมอื่น เช่น ศาสนสถานอื่น ๆ ก็ปรากฏเป็นสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคงได้รับ การบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมื่อมีการบูรณะในปัจจุบัน พบโบราณวัตถุ เช่น เครื่องถ้วยจีนเป็นเครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์สุ้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีอายุในราว พุทธศตวรรษที่ 16 - 19 อาจเป็นการนำของมีค่าในยุคก่อนนำมาฝังก็เป็นได้ แต่ก็ไม่น่าจะมีอายุห่างจากโบราณวัตถุมากนัก อาจจะราวปลาย พุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลักฐานอื่นที่เก่าไปกว่า สมัยอยุธยาเป็นเครื่องสนับสนุน คือ พระพุทธรูปหินทรายแดงขนาดใหญ่ ศิลปะแบบอู่ทอง และยังมีเสมา ที่มีลวดลายซึ่ง นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า เป็นศิลปะอู่ทอง หรือศิลปะแบบก่อนอยุธยา จึงกล่าวได้ว่าวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบุรีนี้ มีมา ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนาเถรวาทจากลังกาที่นครศรีธรรมราชแพร่หลายขึ้นมาผ่านเพชรบุรี ดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปยัง สุโขทัย แล้วเป็นศาสนาหลักของสังคมที่เป็นบ่อเกิดของ วัฒนธรรมอีก หลายด้าน โดยเฉพาะในส่วนที่เนื่อง ในศาสนาเป็นต้นว่าการสร้างศาสนสถาน เมื่อไทยรับเอาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามา         เมื่อต้นสุโขทัย ได้เกิดธรรมเนียมการมีวัดมหาธาตุเป็นวัด สำคัญ ของเมือง แต่มิได้หมายความว่าพระธาตุเจดีย์เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยสุโขทัย เนื่องจากมีธาตุเจดีย์อีกหลายองค์ที่มีอายุเก่ากว่ายุคสุโขทัย เช่น พระบรมธาตุเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ธรรมเนียมการสร้างธาตุเจดีย์เป็นปูชนียสถานน่าจะเข้ามาตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธศาสนา เข้ามาใน ดินแดนที่ เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ในระยะแรก ๆ ส่วนธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากลัทธิลังกาวงศ์คือ การมีวัดมหาธาตุเป็นหลักของเมือง มีข้อสนับสนุนจากโบราณสถานที่ปรากฏในปัจจุบัน ในเมืองสำคัญ ๆ หลายเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองสุโขทัย ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก สวรรคโลก สุพรรณบุรี ราชบุรี สวรรค์บุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น ล้วนแต่มีวัดมหาธาตุเป็นวัดหลักของเมืองทั้งสิ้น รวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย ความสัมพันธ์ของเมืองเพชรบุรี กับสุโขทัยในช่วงเวลาดังกล่าวแม้ว่าจะไม่เด่นชัด แต่จากข้อความในจารึกสุโขทัยทั้ง 2 หลักที่กล่าวข้างต้น ก็บ่งชัดว่า เพชรบุรีมีฐานะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง ตำแหน่งที่ตั้งของมหาธาตุนี้อยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีทางฝั่งตะวันตก ซึ่งอยู่คนละฟากกับ เมืองในสมัยที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทวัดกำแพงแลง หากว่าวัดมหาธาตุได้สถาปนา ขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัย บ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี ก็คงมีความสำคัญอาจเป็นศูนย์กลางของเมืองในช่วง เวลาดังกล่าว ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้ชำระขึ้นมีความตอนหนึ่งว่าสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ตอนหนึ่งในพระราชบัญญัติหัวเมืองบัญญัติไว้ว่า "…ออกพระศรีสุริทฤาไชย เมืองเพชญบุรีย ขึ้นประแดงเสนฎขวา…" โดยมีฐานะเป็นเมืองจัตวา และในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองเพชรบุรีจัดอยู่ในหัวเมือง ฝ่ายตะวันตก โดยปรากฏหลักฐานอยู่ใน คำให้การชาวกรุงเก่า โดยเรียกว่า เมืองวิดพรี นอกจากในเอกสารของไทยแล้ว ในเอกสารของชาวตะวันตกที่เข้ามา ในสมัยกรุงศรีอยุธยายังได้บันทึกเรื่องราวของเมืองเพชรบุรี ไว้อีกหลายที่ด้วยกัน เช่น Tome Pires ชาวโปรตุเกสที่เดินทางไปยังอินเดียและมะละกา ในปี พ.ศ.2054 และได้ทำบันทึกเกี่ยวกับเมืองที่สำคัญ ที่มีบทบาททางการค้าระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก เอาไว้ โดยกล่าวถึง เมืองเพชรบุรี (Peperim , Pepory) ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญ เมืองหนึ่งใน เขตฝั่งตะวันออก แล้วยังเป็นเมืองที่มีเจ้าเมืองปกครองเยี่ยงกษัตริย์ และยังมีสำเภาส่งไปค้าขายยังภูมิภาคต่างๆด้วยส่วนในประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ของนายฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง กล่าวว่า เมืองเพชรบุรี (Pipli) เป็นท่าเรือติดทะเล ค้าข้าว ผ้า และฝ้ายมาก นิโกลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามา กรุงศรีอยุธยาในสมัย สมเด็จ พระนารายณ์ได้กล่าวไว้ใน ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ในบทที่ว่าด้วยเมืองบางกอกและเมืองท่าอื่น ๆ กล่าวถึง เมืองเพชรบุรีไว้ด้วยคือ "เมืองพิบพลี (Piply : เพชรบุรี)… อยู่ไกลจากปากน้ำเพียง 10 หรือ 12 ลี้ เท่านั้น เป็นเมืองเก่ามาก กล่าวกันว่าเคยเป็นเมืองที่งดงาม…" จดหมายเหตุ การเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธ ที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2205 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์) ได้กล่าวถึงเมืองเพชรบุรี ไว้ว่า "จากเมืองปราณบุรี เรามาถึงเมืองเพชรบุรี (Pipili) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม โดยใช้เวลา เดินทาง 5 วัน เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่และมีกำแพงเมืองก่ออิฐ" จาก The History of Japan together with a description of the Kingdom of Siam 1690 - 92 ของ Engellbert Kaempfer M.D. ที่เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2233 ได้บรรยายเส้นทางการเดินทางไว้ตอนหนึ่งว่า "…ต่อจากนั้นก็ถึงจาม (Czam) ถัดขึ้นไปคือเพชรบุรี (Putprib)" ในจดหมายเหตุของมองสิเออร์เซเบเรต์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี ในสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช ตอนที่กล่าวถึงการเดินทางเพื่อไปลงเรือที่เมืองมะริด ในปี พ.ศ.2230 ได้บรรยายเมืองเพชรบุรีไว้ว่า "เมืองเพชรบุรีนี้เป็นเมืองขนาดใหญ่ในประเทศสยามและเดิม ๆ มาพระเจ้าแผ่นดินสยามก็เคยมาประทับอยู่ในเมืองนี้เสมอ ๆ เมืองนี้มีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบ และมีหอรบหลายแห่ง แต่กำแพงนั้นชำรุดหักพังลงมากแล้วยังเหลือดีอยู่แถบเดียว เท่านั้น บ้านเรือนในเมืองนี้ไม่งดงามเลย เพราะเป็นเรือนปลูกด้วยไม้ไผ่ทั้งสิ้นสิ่งที่งามมีแต่วัดวารามเท่านั้น และวัดในเมือง นี้ก็มีเป็นอันมาก…" จากเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในเอกสารฝ่ายไทย เรียก เมืองเพชรบุรี ในสมัย กรุงศรีอยุธยาว่า เมืองเพชญบุรีย ส่วนที่เรียกว่า เมืองวิดพรี ในคำให้การชาวกรุงเก่านั้น เอกสารฉบับนี้ต้นฉบับ เป็นภาษาพม่า กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณขอคัดสำเนามาจากพม่า แล้วมาแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เป็นเรื่องราวพงศาวดารไทยที่พระเจ้าอังวะกษัตริย์พม่า ให้เรียบเรียงจากคำให้การของชาวไทยที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อ ครั้งพม่ายกมาตีกรุงศรี อยุธยา จึงเป็นไปได้ว่าชื่อวิดพรีนั้น เป็นการเรียกตามสำเนียงพม่า ส่วนในเอกสารชาว ตะวันตกที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา ก็เรียกชื่อเมืองเพชรบุรีแตกต่างกันไปหลายแบบคือ Tome Pires ชาวโปรตุเกส (พ.ศ.2054) เรียกว่า Peperim , Pepory ในจดหมายเหตุการเดินทางของพระสังราชแห่งเบริธ (พ.ศ.2205) เรียก Pipili ในประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนิโกลาส์ แชรแวส เรียก Piply ส่วนใน The History of Japan together with a description of the Kingdom of Siam 1690 - 92 ของ Engellbert Kaempfer M.D.(พ.ศ.2233) เรียก Putprib เหตุที่มีการเรียกชื่อเมืองเพชรบุรีแตกต่างกันหลายแบบน่าจะเป็นการถ่ายเสียง จากภาษาไทยตามสำเนียงของแต่ละชาติแต่ละภาษา

เพชรบุรีในสมัยสุโขทัย
         อาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหงแม้จะมีอำนาจครอบคลุมเพชรบุรี แต่เพชรบุรีก็ยังมีอิสระอยู่มาก สามารถส่งทูตไปจีนได้ ต้นวงศ์ของกษัตริย์เพชรบุรีในช่วงสมัยสุโขทัยคือ พระพนมทะเลศิริ ผู้เป็นเชื้อสายของพระเจ้าพรหมแห่งเวียงไชยปราการ ราชวงศ์นี้ได้ครองเมืองเพชรบุรีมาจนถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง จึงได้เสด็จไปสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

เพชรบุรีในสมัยอยุธยาตอนต้น
          เพชรบุรีขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาในแบบศักดินาสวามิภักดิ์มีขุนนางควบคุมเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยพระบรมไตรโลกนาถอำนาจใน ส่วนกลางมีมากขึ้น เพชรบุรียังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นอำนาจจากส่วนกลางจึงมามีส่วนในการปกครองเพชรบุรีมากกว่าเดิม
          ในสมัยพระมหาธรรมราชา ทางเขมรได้ให้พระยาจีนจันตุยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรี แต่ชาวเพชรบุรีป้องกันเมืองไว้ได้ ต่อมาพระยาละแวกได้ยกทัพมาเองมีกำลังประมาณ 7,000 คน เมืองเพชรบุรีจึงตกเป็นของเขมร จนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเขมรชนะ เพชรบุรีจึงเป็นอิสระ และเนื่องจากทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีเป็นพิเศษ จึงได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีเป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนจะทรงยกทัพใหญ่ไปปราบพม่า และสวรรคตที่เมืองหาง
           เจ้าเมืองเพชรบุรีและชาวเมืองเพชรบุรีได้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับข้าศึกหลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเชษฐาธิราชและสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โดยเฉพาะในสมัยพระเทพราชานั้น การปราบปรามเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชซึ่ง แข็งเมือง พระยาเพชรบุรีได้เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสบียงให้แก่กองทัพฝ่ายราชสำนักอยุธยา อย่างไรก็ดีเมืองเพชรบุรีถูกตีแตกอีกครั้ง เมื่อพม่าโดยมังมหานรธราได้ยกมาตีไทย จนไทยต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 นั่นเอง

เพชรบุรีในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
         ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินจนถึงแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยยังคงทำสงครามกับพม่ามาโดยตลอดซึ่ง เจ้าเมืองและชาวเมืองเพชรบุรีก็ยังคงมีส่วนในการทำสงครามดังกล่าว จนเมื่อพม่าตกเป็นของอังกฤษบทบาทของเมืองเพชรบุรีที่มีต่อเมืองหลวงและราชสำนักจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้ง ยังทรงผนวชอยู่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้สร้างพระราชวัง วัดและพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ย ๆ ใกล้กับตัวเมืองและพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “วังบ้านปืน” และด้วยความเชื่อที่ว่าอากาศชายทะเลและ น้ำทะเลอาจบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวัง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ขึ้นที่ชายหาดชะอำเพื่อใช้เป็นที่ประทับรักษาพระองค์


อาณาเขต
         จังหวัดเพชรบุรีอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 6,225.138 ตารางกิโลเมตรหรือ 3,890,711.20 ไร่ โดยมีส่วนที่กว้างที่สุดวัดได้ 103 กิโลเมตรจากทิศตะวันออก-ตะวันตกและส่วนที่ยาวที่สุดวัดได้ 80 กิโลเมตรจากทิศเหนือ-ใต้ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดและประเทศใกล้เคียงต่อไปนี้
         แผนที่แนบท้ายพระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502ด้านเหนือ ติดกับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ด้านตะวันออก ติดชายฝั่งอ่าวไทย (น่านน้ำติดต่อตรงข้ามกับน่านน้ำจังหวัดชลบุรี ด้านทิศใต้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านทิศเหนือ น่านน้ำจังหวัดสมุทรสงคราม น่านน้ำจังหวัดสมุทรสาคร น่านน้ำกรุงเทพมหานคร และน่านน้ำจังหวัดสมุทรปราการ)
ด้านใต้ ติดกับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ด้านตะวันตก ติดกับเขตตะนาวศรีของสหภาพพม่า


สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด รูปทุ่งนา ต้นตาลโตนด และพระนครคีรี หรือเขาวัง
ดอกไม้ประจำจังหวัด: จังหวัดเพชรบุรีไม่มีการกำหนดดอกไม้ประจำจังหวัดอย่างเป็นทางการ แต่ได้ใช้ดอกลั่นทมเป็นสัญลักษณ์เสมือนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดโดยตลอด
ต้นไม้ประจำจังหวัด: หว้า (Eugenia cumini)
คำขวัญประจำจังหวัด: เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม


แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย

10/30/2553

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ Changwat Prachuap Khiri Khan

ประวัติศาสตร์ History

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

       จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาไม่ค่อยแน่ชัด เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบ ยามมีศึกสงครามยากแก่การป้องกันจึงต้องปล่อยให้เป็นเมืองร้างหรือยุบเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเพชรบุรี ในอดีตเป็นเพียงเมืองชั้นจัตวาเล็ก ๆ ที่รวมกันอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองเพชรบุรี พอถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงได้โปรดเกล้าฯ ตั้งเมือง เมืองบางนางรม ที่ปากคลองบางนางรม ได้รวมเมืองบางนางรม เมืองกุย และเมืองคลองวาฬ แต่สภาพที่ดินไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกจึงได้มีการย้ายเมืองไปยังเมืองกุยบุรีที่มีความอุดมสมบูรณ์และการตั้งบ้านเรือนหนาแน่นกว่า แต่ยังเรียกเมืองบางนางรมตามเดิม จวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ชื่อคล้องกับชื่อของจังหวัดเกาะกงที่แยกออกจากจังหวัดตราดคือ "เมืองประจันตคีรีเขต"
       รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองประจวบคีรีขันธ์จึงถูกยุบรวมเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองเพชรบุรี และต่อมาได้มีการย้ายเมืองประจวบคีรีขันธ์มาตั้งที่ตำบลเกาะหลัก ในช่วงนี้เมืองประจวบคีรีขันธ์และเมืองปราณบุรีขึ้นตรงกับเมืองเพชรบุรี ส่วนเมืองกำเนิดนพคุณขึ้นตรงกับเมืองชุมพร ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริสงวนชื่อเมืองปราณไว้ (เมืองเก่าที่ตั้งอยู่ที่ปากน้ำปราณบุรี) จึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองประจวบคีรีขันธ์ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะหลักเป็นเมืองปราณบุรี รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรีเป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อป้องกันการสับสนกับเมืองปราณ ที่ปากน้ำปราณบุรี หลังจากมีการยกเลิกระบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองประจวบคีรีขันธ์จึงไม่ได้ขึ้นตรงกับเมืองเพชรบุรีและมณฑลราชบุรีอีก
       จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือเป็นจังหวัดของภาคกลาง แต่พื้นที่อยู่ตอนบนของภาคใต้ หรือจะเรียกว่า เป็นประตูก่อนสู่จังหวัดภาคใต้คือจังหวัดชุมพรก็คงไม่ผิด เพราะการเดินทางไปท่องเที่ยวทางภาคใต้ จังหวัดใดก็ตามตั้งแต่ชุมพรลงไป จะต้องขับรถผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก่อน สมัยรัชกาลที่ 4 ได้รวมเมืองบางนางรม เมืองกุยบุรี เมืองคลองวาฬ เป็นเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีที่ว่าการอยู่ ณ เมืองกุยบุรี จน พ.ศ. 2441 จึงย้ายมาอยู่ที่อ่าวเกาะหลักหรืออ่าวประจวบฯ ซึ่งเป็นที่ตั้ง ตัวเมืองในปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีชายฝั่งทะเลยาวตลอดแนว จึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมากมายหลายแห่ง ที่ขึ้นชื่อคือ ชายทะเลหัวหินซึ่งมีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน และเขตพื้นที่ที่แคบที่สุดของประเทศไทย อยู่ในเขตจังหวัดนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่บนส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย 11 กิโลเมตร แต่มีชายทะเลยาวถึง 212 กิโลเมตร ซึ่งเกือบเท่ากับ จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ว่าได้ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ “ประจวบคีรีขันธ์” เคยเป็นที่ตั้งของเมืองนารัง สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ได้ร้างไปเมื่อครั้งกรุงแตก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ปากคลองอีรม ชื่อว่าเมืองบางนางรม
ศาลหลักเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหลักเมืองชัยคู่บ้าน คู่เมือง ของชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราช ดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมือง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2537 เพื่อให้เป็นสิริมงคลและ หลักชัยคู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่สักการะบูชาของชาวประจวบฯ สืบไป

ภูมิศาสตร์

       มีเนื้อที่ประมาณ 6,367.620 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,979,762.5 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดเพชรบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวไทย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสหภาพพม่า

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

ตราประจำจังหวัด เป็นรูปศาลามณฑป มีภาพเกาะอยู่เบื้องหลัง ศาลามณฑป หมายถึง พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ในถ้ำพระยานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้เมื่อ พ.ศ.2433 และเคยเสด็จไปประทับที่ถ้ำนี้ 2 ครั้ง และต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็เคยเสด็จไปประทับที่นี่อีก
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกเกด (Manilkara hexandra)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: เกด (Manilkara hexandra)
คำขวัญประจำจังหวัด: เมืองทองเนื้อเก้า มะพร้าว สับปะรด สวยสด หาด เขา ถ้ำ งามล้ำน้ำใจ


แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย

จังหวัดตาก Changwat Tak

ประวัติเมืองตาก
       เมืองตากในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอยู่มาก่อน ดังมี หลักฐานศิลปมอญปรากฏอยู่ที่อำเภอบ้านตาก มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ และเป็นหนึ่งในหัวเมืองที่มีอายุขัยเกินกว่าสองพันปีขึ้นไป เมื่อมีการ อพยพ ของชนชาติไทยจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงตอนใต้ ลงมาตามแนวลำน้ำดง (ลำน้ำสาละวิน) มีพวกหนึ่งได้ข้ามลำน้ำสาละวิน ผ่านลุ่มน้ำเมยหรือแม่น้ำต่องยินเข้ามาทางช่องเขาด้าน อำเภอแม่สอดและมาถึงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า “เมืองตาก”
      ผู้นำกลุ่มคนไทยที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองตากในยุค นั้น ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อเนื่อง กันมาจนถึงปี พ.ศ. 560 รัชสมัยพระเจ้าสักดำ ซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองตากที่ยิ่งใหญ่มาก มีอาณาเขตที่อยู่ในอำนาจแผ่ไปจนจรดทะเลอันดามันดังมีบันทึกในพงศาวดารเหนือกล่าวว่าในรัชสมัยพระเจ้าสักดำนั้นเมืองตากมีการค้าขายกับเมืองอินเดียด้วย เมืองตากคงจะเสื่อมลงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 พระยากาฬวรรณดิสผู้เป็นกษัตริย์เมืองตากที่อพยพมาจาก ตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ได้โยกย้ายไปสร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองละโว้ทางตอนใต้ของเมืองตากลงไปอีก มีบางยุคเมืองตากถูกทอดทิ้ง กลายเป็นเมืองร้างดังในพงศาวดารเหนือได้ กล่าวถึงการเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวี พระราชธิดากษัตริย์ละโว้ (พระยากาฬวรรณดิส) เพื่อไปปกครองแคว้นหริภุญไชย (ลำพูน) ในราว พ.ศ. 1176 โดยทาง ลำน้ำปิง พระนางจามเทวีขึ้นไปสำรวจบนฝั่งแม่น้ำพบร่องรอยกำแพงเมืองเก่าๆ ถูกทิ้งร้าง จึงโปรดให้สร้างเป็นบ้านเมืองใหม่ชื่อว่า “เมืองตาก”
       ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 1805 ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพ มาประชิดเมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงจัดกองทัพออกไปรบ โดยมีพระราชโอรสองค์เล็กซึ่งมีพระชนมายุได้ 19 พรรษา ติดตามไปด้วย กองทัพ ทั้งสองฝ่ายปะทะกันที่บริเวณเชิงดอยนอกเมืองตากประมาณกิโลเมตรเศษ ราชโอรสองค์เล็กได้ทรงชนช้าง กับขุนสามชนกระทำยุทธหัตถีกัน ขุนสามชนสู้ไม่ได้แตกพ่ายไป ต่อมาภายหลังทรงพระนามว่า “พ่อขุนรามคำแหงมหาราช” และได้โปรดสร้างเจดีย์ขึ้นเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะในการทำยุทธหัตถีครั้งนั้น องค์หนึ่งเป็นศิลปแบบสุโขทัย ซึ่งเจดีย์ยุทธหัตถีนี้อยู่ที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก ห่างจากตัวเมืองไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงราว 31 กิโลเมตร ต่อมาในแผ่นดินมหาธรรมราชา ได้ย้ายเมืองตากลงมาทางตอนใต้ตามลำน้ำปิง ไปตั้งอยู่ที่ป่ามะม่วง ฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ในเขตตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตากในปัจจุบัน เมืองตากที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้มิใช่เมืองหน้าด่าน สำหรับป้องกันกองทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่กองทัพไทยใช้เป็นที่ชุมนุมพลในเวลา ที่จะยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากนี้ทุกพระองค์ โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชสมบัตินั้น พระองค์ได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระที่นั่งสุริยาอมรินทร ให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราราชสีห์ ไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือและต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ปลัดเมืองตากพระยาวชิรปราการแล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยลำดับ กล่าวโดยสรุป จังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีความเป็นมาในประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การสนใจ เป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากนี้แล้วถึง 4 พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง และทรงยกทัพกลับราชอาณาจักรไทยโดยผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ และได้สร้างวัดพระนารายณ์ที่เชิงสะพานกิตติขจรปัจจุบัน และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองตาก และเป็นผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทยจากพม่า ครั้งที่ 2

ภูมิศาสตร์       จังหวัดตาก ตามภูมิศาสตร์ที่ตั้ง เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคตะวันตก มีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอื่นๆ มากที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วย 9 จังหวัด และ 1 ประเทศ ดังนี้
ทางเหนือ ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
ทางตะวันออก ติดกับจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ทางใต้ ติดกับจังหวัดกาญจนบุรี
ทางตะวันตก ติดกับรัฐกะเหรี่ยง สหภาพพม่า โดยมีแม่น้ำสายสำคัญแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ซึ่งก็คือ แม่น้ำเมย
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขาสูง โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด: รูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงหลั่งทักษิโณทกบนคอช้าง
       หมายถึง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบอังวะนั้น พระมหาอุปราชเมืองพม่า สั่งให้ทหารคู่ใจคอยตี ขนาบ และปลงพระชนม์เสียให้ได้ ความแตกรู้ถึงพระกรรณสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง จึงทรงประชุมชาวเมือง และบรรดาแม่ทัพนายกอง เมื่อเดือน 2 ปีวอก พ.ศ. 2127 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณฑกเหนือแผ่นดิน ประกาศอิสระภาพไม่ยอมขึ้นกับเมืองอังวะ อีกต่อไป จังหวัดตากเป็นด่านแรก ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงช้าง ยกกองทัพกลับเข้ามาถึงราชอาณาจักรไทย เช่นเดียวกับที่เมืองนี้เคยเป็นทางผ่าน ที่ชาวอินเดียเดินทางเข้าเมืองไทยในสมัยโบราณ
ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกเสี้ยวดอกขาว (Bauhinia sp.)
ต้นไม้ประจำจังหวัด: แดง (Xylia kerrii)
คำขวัญประจำจังหวัด: ธรรมชาติน่ายล ภูมิพลเขื่อนใหญ่ พระเจ้าตากเกรียงไกร เมืองไม้และป่างาม


                                                                        จังหวัดตาก

แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย

จังหวัดกาญจนบุรี Changwat Kanchanaburi

ประวัติจังหวัดกาญจนบุรี History
      เมืองกาญจนบุรี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทุกยุคสมัย สามารถแบ่งออกเป็นยุคสมัยตามหลักฐานที่พบ ได้ดังนี้

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
       เริ่มตั้งแต่สมัยเริ่มกำเนิดมีมนุษย์ขึ้นในโลก จากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ สิงสาราสัตว์มากมาย เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งอาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานทางด้านโบราณคดีมากมายได้แก่ เครื่อมือหินกะเทาะ เครื่องมือสมัยหินใหม่ เครื่องมือสมัยโลหะ โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับ ภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำ โลงศพ ฯลฯ ตามถ้ำเพิงผา และตามลำน้ำแควน้อยแควใหญ่ ตลอดไปจนลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

สมัยทวาราวดี
       เมื่ออินเดียได้เดินทางเข้ามาค้าขาย และเผยแพร่พุทธศาสนายังแคว้นสุวรรณภูมิ ในราวพุทธศตวรรษที่ 11 - 16 พบหลักฐานศิลปะอินเดียสมัยคุปตะในสมัยทวาราวดี ตามลำน้ำแควน้อย แควใหญ่ และแม่กลอง ที่บ้านวังปะโท่ บ้านท่าหวี บ้านวังตะเคียน และพงตึก โบราณวัตถุสถานที่พล เช่น ซากเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป พระพิมพ์ เสมาธรรมจักร ระฆังหิน เครื่องประดับ ภาชนะดินเผา และพบตะเกียงโรมันสำริดที่มีอายุราว พศ.600 นับเป็นโบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

สมัยอิทธิพลขอม
       จากหลักฐานทางเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเมืองกาญจนบุรี คือ พงศาวดารเหนือ กล่าวว่า "กาญจนบุรีเป็นเมืองพญากง พระราชทานบิดาของพระยาพาน เป็นเมืองสำคัญของแคว้นอู่ทอง หรือสุวรรณภูมิ มีผู้สันนิษฐานว่าพญากงสร้างขึ้นราว พ.ศ.1350" ต่อมาขอมได้แผ่อิทธิพลนำเอาศาสนาพุทธมหายานเข้ามาประดิษฐานในเมืองกาญจนบุรี ปรากฏหลักฐานคือปราสาทเมืองสิงห์ เมืองครุฑ เมืองกลอนโด จนอำนาจอิทธิพลขอมเสื่อมลงไป

สมัยอยุธยาเป็นราชธานี

       ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองกาญจนบุรีปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ต้องกลายมาเป็นเมืองหน้าด่าน เพราะตั้งอยู่ติดกับประเทศคู่สงครามคือพม่า กาญจนบุรีจึงเป็นเส้นทางเดินทัพและสมรภูมิ ด้วยเหตุว่ามีช่องทางเดินติดต่อกับพม่า คือ ด่านพระเจดีย์สามองค์ และด่านบ้องตี้ จึงนับว่ามีความสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งในทางยุทธศาสตร์ ยังปรากฏชื่อสถานที่ในพงศาวดารหลายแห่งเช่น ด่านพระเจดีย์สามองค์ สามสบ ท่าดินแดง พุตะไคร้ เมืองด่านต่าง ๆ
เมืองกาญจนบุรีตั้งอยู่ในช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่มีลำตะเพินอยู่ทางด้านทิศเหนือ ด้านหลังติดเขาชนไก่ ห่างจากที่ตั้งปัจจุบันไปประมาณ 14 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกกันว่าเมืองกาญจนบุรีเก่ามีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 170x355 เมตร มีป้อมมุมเมืองก่อด้วยดินและหินทับถมกัน ลักษณะของการตั้งเมืองเหมาะแก่ยุทธศาสตร์ในสมัยนั้นอย่างยิ่ง ด้วยเป็นซอกเขาที่สกัดกั้นพม่าที่ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มุ่งจะไปตีเมืองสุพรรณบุรีและอยุธยาจำเป็นต้องตีเมืองกาญจนบุรีให้ได้เสียก่อน หากหลีกเลี่ยงไปอาจจะถูกกองทัพที่เมืองกาญจนบุรีตีกระหนาบหลัง ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมือง ป้องปราการ พระปรางค์ เจดีย์ และวัดร้างถึง 7 วัดด้วยกัน สมัยอยุธยานี้ไทยต้องทำสงครามกับพม่าถึง 24 ครั้ง กาญจนบุรีเป็นสมรภูมิหลายครั้ง และเป็นทางผ่านไปตีอยุธยาจนต้องเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 และต้องย้ายราชธานีใหม่

สมัยธนบุรีเป็นราชธานี

       กรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่จากการกู้เอกราชโดยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในสมัยนี้เกิดสงครามกับพม่าถึง 10 ครั้ง กาญจนบุรีเป็นสมรภูมิอีกหลายครั้ง เช่น สงครามที่บางกุ้ง และที่บางแก้ว ซึ่งมีสมรภูมิรบกันที่บริเวณบ้านหนองขาว

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี

       เมื่อไทยย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียง 3 ปี ก็เกิดสงครามใหญ่คือ สงคราม 9 ทัพ แต่ไทยสามารถยันกองทัพพม่าแตกพ่ายไปได้ ณ สมรภูมิรบเหนือทุ่งลาดหญ้าในปีต่อมาก็ต้องทำสงครามที่สามสบและท่าดินแดงอีก และไทยตีเมืองทวาย จากนั้นจะเป็นการรบกันเล็กน้อยและมีแต่เพียงข่าวศึก เพราะพม่าต้องไปรบกับอังกฤษ
       ในที่สุดก็ตกเป็นเมืองขึ้น และเลิกรบกับไทยตลอดไป ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยุทธศาสตร์การรบเปลี่ยนไป โดยเหตุที่พม่าต้องนำทัพลงมาทางใต้เพื่อเข้าตี
กรุงรัตนโกสินทร์ จำเป็นต้องมีทัพเรือล่องลงมาจากสังขละบุรี มาตามลำน้ำแควน้อยผ่านอำภอไทรโยคมายังปากแพรก ซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำทั้งสอง ด้วยเหตุนี้หลังจากสิ้นสงคราม 9 ทัพแล้ว จึงได้เลื่อนที่ตั้งฐานทัพจากเมืองกาญจนบุรี ที่ลาดหญ้า มาตั้งที่ตำบลปากแพรก ซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำทั้ง 2 สาย กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงอธิบายว่า "ที่จริงภูมิฐานเมืองปากแพรกดีกว่าเขาชนไก่ เพราะตั้งอยู่ในที่รวมของแม่น้ำทั้ง 2 สาย พื้นแผ่นดินที่ตั้งเมืองก็สูงแลเห็นแม่น้ำน้อยได้ไกล ป้อมกลางย่านตั้งอยู่กลางลำน้ำทีเดียว แต่เมืองกาญจนบุรีที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้เดิมปักเสาระเนียดแล้วถมดินเป็นเชิงเทินเท่านั้น"
       ในสมัยรัชกาลที่ 2 กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จออกมาขัดตาทัพ กำแพงเมืองก็คงเป็นระเนียดไม้อยู่ ต่อมาจนถึง พ.ศ.2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้ก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการขึ้นเป็นถาวร ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อติดต่อค้าขายกับเมืองราชบุรี ดังพระราชนิพนธ์เสด็จพระพาสไทรโยค กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "แต่มีเมืองปากแพรกเป็นที่ค้าขาย ด้วยเขาชนไก่เมืองเดิมอยู่เหนือมากมีแก่งถึงสองแก่ง ลูกค้าไปมาลำบาก จึงลงมาตั้งเมืองเสียที่ปากแพรกนี้เป็นทางไปมาแก่เมืองราชบุรีง่าย เมืองที่สร้างขึ้นใหม่
กว้าง 5 เส้น ยาว 18 วา มีป้อม 4 มุมเมือง ป้อมย่านกลางด้านยาวตรงหน้าเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้มีป้อมใหญ่อยู่ตรวเนิน ด้านหลังมีป้อมเล็กตรงกับป้อมใหญ่ 1 ป้อม" การสร้างเมืองกาญจนบุรีใหม่นี้ ดังปรากฏในศิลาจารึกดังนี้ ให้พระยาราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจเป็นพระยาประสิทธิสงครามรามภักดีศรีพิเศษประเทศนิคมภิรมย์ราไชยสวรรค์พระยากาญจนบุรี ครั้งกลับเข้าไปเฝ้าโปรดเกล้าฯว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองอังกฤษ พม่า รามัญ ไปมาให้สร้างเมืองก่อกำแพงขึ้นไว้จะได้เป็ฯชานพระนครเขื่อนเพชรเขื่อนขัณฑ์มั่นคงไว้แห่งหนึ่ง ในปัจจุบันกำแพงถูกทำลายลงโดยธรรมชาติและหน่วยราชการเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เหลือเพียงประตูเมืองและกำแพงเมืองบางส่วน

การปกครองของเมืองกาญจนบุรี

       ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประกอบด้วยเมืองด่าน 8 เมือง อยู่ในแควน้อย 6 เมือง แควใหญ่ 2 เมือง ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ เพราะได้ตั้งให้พวกมอญอาสา มอญเชลย และกะเหรี่ยง เป็นเจ้าเมืองปกครองกันเอง เพื่อให้มีเกียรติศัพท์ดังออกไปเมืองพม่าว่ามีหัวเมืองแน่นหนาหลายชั้น และมีหน้าที่คอยตระเวณด่านฟังข่าวคราวข้าศึกติดต่อกันโดยตลอด เมื่อสงครามว่างเว้นลงแล้ว เจ้าเมืองกรมการเหล่านี้ก็มีหน้าที่ส่งส่วย ทองคำ ดีบุก และสิ่งอื่นๆ แก่รัฐบาลโดยเหตุที่ในสมัยนั้นมิได้จัดเก็บภาษีอากรจากพวกเหล่านี้แต่อย่างใด
เมืองด่าน 7 เมือง(รามัญ 7 เมือง) ประกอบด้วยเมืองในสุ่มแม่น้ำแควน้อย 6 เมือง และแควใหญ่ 1 เมือง คือ

เมืองสิงห์
เมื่องลุ่มสุ่ม
เมืองท่าตะกั่ว
เมืองไทรโยค
เมืองท่าขนุน
เมืองทอผาภูมิ
เมืองท่ากระดาน


เมืองต่างๆ เหล่านี้ผู้สำเร็จราชการเมืองยังไม่มีพระนาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาษาสันสกฤตแก่ผู้สำเร็จเมือง ดังนี้
เมืองสิงห์ เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ ปัจจุบันเป็นต้นสกุล สิงคิบุรินทร์ ธำรงโชติ
เมืองลุ่มสุ่ม เป็น พระนินภูมิบดี ปัจจุบันเป็นต้นสุกล นินบดี จ่าเมือง หลวงบรรเทา
เมืองท่าตะกั่ว เป็นพระชินติฐบดี ปัจจุบันเป็นต้นสกุล ท่าตะกั่ว ชินอักษร ชินหงสา
เมืองไทรโยค เป็น พระนิโครธาภิโยค ปัจจุบันเป็นต้นสกุล นิโครธา
เมืองท่าขนุน เป็นพระปนัสติฐบดี ปัจจุบันเป็นต้นสกุล หลักคงคา
เมืองทองผาภูมิ เป็น พระเสลภูมิบดี เป็นต้นสกุลเสลานนท์ เสลาคุณ
เมืองท่ากระดาน เป็นพระผลกติฐบดี เป็นต้นสกุล พลบดี ตุลานนท์

      ครั้นเมื่อมีการปกครองตามระเบียบสมัยใหม่ ร.ศ.114 เมืองด่านเหล่านี้ถูกยุบลงเป็นหมู่บ้าน ตำบล กิ่งอำเภอ เป็นอำเภอบ้างตามความสำคัญของสถานที่ ดังนี้
เมืองทองผาภูมิ (เดิมเรียกว่าท้องผาภูมิ) ยุบลงเป็นหมูาบ้านอยู้ในเขตกิ่งอำเภอสังขละบุรี(ต่อมาเป็นอำเภอสังขละบุรี) ปัจจุบันเป็นอำเภอทองผาภูมิ
เมืองท่าขนุน(สังขละบุรี) ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอสังขละบุรี ขึ้นต่ออำเภอวังกะ ซึ่งตั้งใหม่อยู่ห่างจากท่าขนุนขึ้นไป ตั้งที่ว่าการริมน้ำสามสบ ต่อมาอำเภอวังกะและกิ่งอำเภอสังขละบุรีได้ถูกเปลี่ยนฐานสลับกันหลายครั้ง และต่อมากิ่งอำเภอสังขละบุรีตั้งอยู่ที่ตำบลวังกะ เดิมขึ้นต่ออำเภอทองผาภูมิและเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอสังขละบุรี ส่วนกิ่งอำเภอสังขละบุรีเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลท่าขนุน เปลี่ยนเป็นอำเภอทองผาภูมิ
ตั้งแต่ พ.ศ.2492 เป็นต้นมา
เมืองไทรโยค ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอวังกะ ใน พ.ศ.2492 ต่อมาได้โอนขึ้นกับ
อำเภอเมืองกาญจนบุรี ได้ย้ายที่ทำการหลายครั้ง ปัจจุบันนี้ตั้งที่ทำการอยู่ที่
ตำบลวังโพธิ์ และได้ยกขึ้นเป็นอำเภอไทรโยค เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2506
เมืองท่าตะกั่ว ยุบลงเป็นหมู่บ้านอยู่ในตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค
เมืองลุ่มสุ่ม ยุบลงเป็นหมู่บ้านในตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค
เมืองสิงห์ ยุบลงเป็นหมู่บ้านอยู่ในตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตราประจำจังหวัด สัญญลักษณ์เจดีย์สามองค์ทรงป้าน เป็นศิลปแบบมอญ สูงประมาณ 6 เมตร ช่องห่างระหว่าเจดีย์ 5-6 เมตรเส้นทางสายนี้ในอดีตใช้เป็นทางเดินทัพที่สำคัญและใกล้ที่สุดของประเทศคู่ศึก ไทยกับพม่า หากจะนับแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง ที่มีการยกทัพผ่านเส้นทางประวัติศาสตร์สายนี้ จากความสำคัญดังกล่าวจึงได้ใช้รูปเจดีย์สามองค์เป็นตราประจำจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับชนรุ่นหลัง ให้รำลึกถึงวีรกรรมอันห้าวหาญของบรรพชนที่ยอมเสียสละแม้กระทั่งชีวิตในอันที่จะพิทักษ์ผืนแผ่นดินไว้


ต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัดกาญจนบุรีต้นขานาง
       มีชื่อพื้นเมืองเรียกว่าคะนางละนางค่านางช้างเผือกหลวงเชพลูเปือย
นางเปือยคะนางลิงง้อฯลฯเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ มีความสูง 15- 20เมตร
ลำต้นตรงเปลือกสีเทาขาวนวลยอดเป็นดุ่มทึบกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลนุ่ม
ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ กว้างประมาณ 5- 13 เซนติเมตร
ยาว 10- 20เซนติเมตรในปี พ.ศ. 2537กรมป่าไม้เสนอชื่อต้นขานาง
เป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดกาญจนบุรี เพราะพบมากในป่าแถบ อ.ไทรโยค
อ.ทองผาภูมิ อ.ศรีสวัสดิ์ อ.สังขละบุรี ในโอกาสที่รัฐบาลได้จัดงานรณรงค์
โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ
ทรงครบรอบปีที่50ในการครองราชสมบัติได้กราบบังคมทูล
สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเป็นองค์ประธานและพระราชทาน
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำไปปลูกเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด

ดอกกาญจนิกา       เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาญจนบุรี มีชื่อพื้นเมืองว่า ลั่นทมเขา แคเขา หรือสะเดาดง เป็นสกุลพันธุ์ไม้พื้นเมืองของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์จำกัดอยู่เฉพาะบนเขาหินปูนในประเทศไทยเท่านั้น เป็นไม้ขนาดเล็ก - กลาง สูง 5-15 เมตร แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ยาว 17-35 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 20-35เซนติเมตรแต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก กลีบนอกติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบดอกขนาดใหญ่ติดกันกล้ายรูปแตร ยาว 4-6เซนติเมตรสีม่วงอ่อน สีจะซีดเมื่อดอกใกล้ร่วง

คำขวัญประจำจังหวัด: แคว้นโบราณ ด่านเจดีย์ มณีเมืองกาญจน์ สะพานข้ามแม่น้ำแคว แหล่งแร่น้ำตก

                                                                   จังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งข้อมูล
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของจังหวัด
เว็บไซต์สาราณุกรมออนไลน์วิกิพีเดีย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) Northeast

มี 19 จังหวัด
1.จังหวัดกาฬสินธุ์ Changwat Kalasin
2.จังหวัดขอนแก่น Changwat Khon Kaen
3.จังหวัดชัยภูมิ Changwat Chaiyaphum
4.จังหวัดนครพนม Changwat Nakhon Phanom
5.จังหวัดนครราชสีมา Changwat Nakhon Ratchasima
6.จังหวัดบึงกาฬ (รอการจัดตั้งอย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2553)
7.จังหวัดบุรีรัมย์ Changwat Buri Ram
8.จังหวัดมหาสารคาม Changwat Maha Sarakham
9.จังหวัดมุกดาหาร Changwat Mukdahan
10.จังหวัดยโสธร Changwat Yasothon
11.จังหวัดร้อยเอ็ด Changwat Roi Et
12.จังหวัดเลย Changwat Loei
13.จังหวัดสกลนคร Changwat Sakon Nakhon
14.จังหวัดสุรินทร์ Changwat Surin
15.จังหวัดศรีสะเกษ Changwat Si Sa Ket
16.จังหวัดหนองคาย Changwat Nong Khai
17.จังหวัดหนองบัวลำภู Changwat Nong Bua Lam Phu
18.จังหวัดอุดรธานี Changwat Udon Thani
19.จังหวัดอุบลราชธานี Changwat Ubon Ratchathani
20.จังหวัดอำนาจเจริญ Changwat Amnat Charoen

ภาคเหนือ North

มี 9 จังหวัด
1.จังหวัดเชียงราย Changwat Chiang Rai
2.จังหวัดเชียงใหม่ Changwat Chiang Mai
3.จังหวัดน่าน Changwat Nan
4.จังหวัดพะเยา Changwat Phayao
5.จังหวัดแพร่ Changwat Phrae
6.จังหวัดแม่ฮ่องสอน Changwat Mae Hong Son
7.จังหวัดลำปาง Changwat Lampang
8.จังหวัดลำพูน Changwat Lamphun
9.จังหวัดอุตรดิตถ์ Changwat Uttaradit